ในวันที่ 23 พ.ย.2563 หน่วย SID-N1 ได้จัดกิจกรรม “เวทีการนำเสนอผลงานและถอดบทเรียนการสนับสนุนทุนผลงานนวัตกรรมเพื่อสังคม ประจำพื้นที่ภาคเหนือตอนบน 1” ขึ้น ณ โรงแรมอิมพีเรียลแม่ฮ่องสอนรีสอร์ท จังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยได้รับเกียรติจาก ท่านชนก มากพันธุ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน มาเป็นประธานในพิธีเปิดกิจกรรมในครั้งนี้
โดยมีอาจารย์ วินัย ไชยวงค์ญาติ คณบดีวิทยาลัยแม่ฮ่องสอนให้เกียรติกล่าวต้อนรับในนามมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ (มรภ.ชม) และอาจารย์ ดร.วรจิตต์ เศรษฐพรรค์ คณบดีวิทยาลัยพัฒนาเศรษฐกิจและเทคโนโลยีชุมชนแห่งเอเชีย มรภ.ชม. และในนามหัวหน้าหน่วย SID-N1 กล่าวรายงานและสรุปผลภาพรวมการดำเนินงานหน่วย SID-N1 ต่อประธานในพิธีเปิดงาน
ในกิจกรรมครั้งนี้ยังได้มีการบรรยายพิเศษ เรื่อง Social Innovation Insights & Breeding New Gen: แนวโน้มทิศทางการขับเคลื่อนพัฒนานวัตกรรมเพื่อสังคมควบคู่กับการสร้างและพัฒนาคนรุ่นใหม่ โดย ดร.อำพล อาภาธนากร ผู้จัดการพัฒนานวัตกรรม ฝ่ายนวัตกรรมเพื่อสังคม สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ที่ให้ความสำคัญในการพัฒนานวัตกรรมที่มาจากองค์ความรู้ (knowledge & knowhow) บวกกับความคิดสร้างสรรค์ (Creativity) และนวัตกรรมนั้นต้องสร้างประโยชน์ สร้างคุณค่า (Value) ให้กับสังคมได้ด้วย อีกทั้งนวัตกรรมก็ควรจะส่งต่อคนรุ่นใหม่ให้สืบทอดและคงคุณค่าต่อไป
หลังจากนั้นเป็นกิจกรรมการนำเสนอผลงานของผู้ที่ได้รับทุน SID-N1 ประจำปี 2563 จำนวน 11 ผลงาน ที่มาจากพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน 6 ผลงาน จังหวัดตาก 4 ผลงานและจังหวัดลำพูน 1 ผลงาน โดยมีคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิร่วมพิจารณาตัดสินคะแนน ซึ่งผู้ที่ได้รับรางวัลมีรายนามดังต่อไปนี้
- รางวัลผลงานนวัตกรรมเพื่อสังคม ระดับดีเยี่ยม ได้แก่ผลงาน “แพลตฟอร์ม SUPER APP MAE HONG SON GUIDE: แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซช่วยสินค้าท้องถิ่น (หลังวิกฤติโควิด)” จาก บริษัท ริง ปาย พอเพียง จำกัด จังหวัดแม่ฮ่องสอน
- ฃรางวัลผลงานนวัตกรรมเพื่อสังคม ระดับดี ได้แก่ผลงาน “‘ฟังชัด’ : แอพพลิเคชั่นช่วยฟังสำหรับผู้สูงอายุ” จาก บจก.พลัส สตรอง จำกัด จังหวัดลำพูน
- รางวัลผลงานนวัตกรรมเพื่อสังคม รางวัลชมเชย ได้แก่ผลงาน “แผ่นไม้เทียมจากแกนกัญชง” จาก วิสาหกิจชุมชนกลุ่มแปรรูปพืชเกษตรพบพระ จังหวัดตาก
- รางวัลผลงานนวัตกรรมเพื่อสังคม ประเภท Popular Award ได้แก่ผลงานครีมตะไคร้ภูเขา สปานาโน จาก ศูนย์ผลิตผลิตภัณฑ์พืชสมุนไพรระดับชุมชนที่ 5 จังหวัดแม่ฮ่องสอน
- รางวัลนวัตกร ประเภท Popular Vote ได้แก่ คุณแววตา สุริยะ จากวิสาหกิจชุมชนบ้านหนองนกปีกกา จังหวัดตาก ชื่อผลงาน “นกปีกกา : นวัตกรรมเครื่องทอเสื่อกกชุมชนหนองนกปีกกา”
- รางวัลการนำเสนอผลงานนวัตกรรมเพื่อสังคมยอดเยี่ยม ได้แก่ผลงาน “ผ้าเขียนเทียนสีธรรมชาติอัตลักษณ์วิถีเผ่าม้ง” จากวิสาหกิจชุมชนบ้านนาป่าแปก จังหวัดแม่ฮ่องสอน
- รางวัลผลงานนวัตกรรมเพื่อสังคมที่มีส่วนช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบต่อสถานการณ์ COVID-19 ยอดเยี่ยม ได้แก่ผลงาน “Eco life: ผลิตภัณฑ์รักษ์โลก” จาก วิสาหกิจชุมชนสร้างป่าสร้างรายบ้านทบศอก จังหวัดแม่ฮ่องสอน
- รางวัลนวัตกรยอดเยี่ยม ได้แก่ ดร.ชยุต จิตธำรงสุนทร จากวิสาหกิจชุมชนบ้านบนดอย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ชื่อผลงาน “ผลิตภัณฑ์อาหารสุขภาพจากถั่วเหลืองหมักด้วยจุลินทรีย์บริสุทธิ์”
และกิจกรรมที่เรียกได้ว่าเป็นไฮไลท์ของงานในครั้งนี้ก็คือ “เสวนาเพื่อถอดบทเรียนการจัดตั้งหน่วยขับเคลื่อนนวัตกรรมเพื่อสังคม ประจำพื้นที่ภาคเหนือตอนบน 1 (SID-N1) และแนวทางการขับเคลื่อนเชิงต่อยอดอย่างยั่งยืน” โดยในเวทีเสวนานี้มีผู้ร่วมเสวนาจากหลากหลายหน่วยงานด้วยกัน อาทิเช่น คุณคุณาวุฒิ บุญญานพคุณ ผู้อำนวยการฝ่ายนวัตกรรมเพื่อสังคม และดร.อำพล อาภาธนากร ผู้จัดการพัฒนานวัตกรรม ฝ่ายนวัตกรรมเพื่อสังคมสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน), คุณชนเขต บุญญขันธ์ ประธานหอการค้าจังหวัดแม่ฮ่องสอน, คุณภานุเดช ไชยสกูล ประธานสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวแม่ฮ่องสอน, ผู้แทนจากสำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดแม่ฮ่องสอน ตลอดจนคณาจารย์ นักวิชาการจากหลากหลายสถาบันการศึกษา และผู้ประกอบการ วิสาหกิจชุมชนที่ได้รับการสนับสนุนทุน SID-N1 ประจำปี 2563 โดยมีประเด็นพูดคุยที่น่าสนใจและเป็นคำถามให้ผู้ประกอบการได้เป็นโจทย์คิดต่อในการพัฒนาผลงานนวัตกรรม อาทิเช่น
- มุมมองการสร้างนวัตกรรมเพื่อสังคมที่ดี ต้องชัดว่าจะทำอะไร ตอบโจทย์แก้ปัญหาหรือพัฒนาตรงไหน เป็นประโยชน์อย่างไร, นวัตกรรมนั้นไปสร้างงาน สร้างอาชีพให้สังคมได้อย่างไร, สร้างมูลค่าให้ภูมิปัญญา สินค้าอย่างไร และเกิดความยั่งยืนอย่างไร
- นวัตกรรมที่สร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ มีสินค้าที่น่าสนใจเพิ่มมากขึ้น ประเด็นที่ควรจะคิดต่อก็คือ การตลาดของผลิตภัณฑ์นั้นเป็นอย่างไร, Connect ระหว่างผู้ซื้อกับผู้ผลิตอย่างไร ระบบ Logistic เป็นอย่างไรหากผู้ผลิตวิสาหกิจชุมชนอยู่ในพื้นที่ห่างไกล, การสร้างมาตรฐานให้กับสินค้า และจะพัฒนาให้เกิด Impact เชิงพาณิชย์ได้อย่างไร
- การสร้างเครือข่าย Connection ของผู้ประกอบการและกลุ่มของที่ปรึกษา (พี่เลี้ยง) เป็นสิ่งที่สำคัญในการสร้างโอกาสและช่องทางในแจ้งกระจายข้อมูลข่าวสารทางธุรกิจที่เกื้อหนุนกัน พัฒนาความร่วมมือระหว่างผู้ประกอบการและที่ปรึกษาด้วยกัน ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นให้เกิดความเข้มแข็งทางธุรกิจได้
และสุดท้ายนี้ คณะผู้จัดงานหน่วย SID-N1 ขอขอบคุณทุกท่านที่มีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนและพัฒนานวัตกรรมเพื่อสังคมให้เกิดขึ้นในภาคเหนือ และเราหวังเป็นอย่างยิ่งว่า หน่วย SID-N1 ของเราจะเป็นหน่วยที่มีส่วนในการสร้างผลกระทบเชิงบวกให้กับสังคม สร้างรายได้ สร้างอาชีพให้กับคนในชุมชน สังคมมากขึ้น เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก ต่อเติมให้เกิดความมั่นคง ทั้งมิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมของประเทศสืบไป แล้วเตรียมพบกับ SID-N1#2 ที่นี่ เร็วๆนี้….