พิธีลงนามในสัญญารับการสนับสนุนนวัตกรรม ประจำปีงบประมาณ 2566 ภายใต้ โครงการหน่วยขับเคลื่อนนวัตกรรมเพื่อสังคม เพื่อนำนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน

DSCF2110

พิธีลงนามในสัญญารับการสนับสนุนนวัตกรรม ประจำปีงบประมาณ 2566

ภายใต้ โครงการหน่วยขับเคลื่อนนวัตกรรมเพื่อสังคม เพื่อนำนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน

—————————————————————————

 

[วันที่ 7 เมษายน 2566] หน่วยขับเคลื่อนนวัตกรรมเพื่อสังคม เพื่อนำนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน จัดพิธีลงนามในสัญญารับการสนับสนุนนวัตกรรม ประจำปีงบประมาณ 2566 จำนวน 14 ผลงาน ณ วิทยาลัยพัฒนาเศรษฐกิจและเทคโนโลยีชุมชนแห่งเอเชีย มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่

 

โดยมี ผศ.ดร.หทัยทิพย์ สินธุยา คณบดีวิทยาลัยพัฒนาเศรษฐกิจและเทคโนโลยีชุมชนแห่งเอเชีย และในนามหัวหน้าหน่วยขับเคลื่อนนวัตกรรมเพื่อสังคมฯ ได้กล่าวต้อนรับและแสดงความยินดีกับผู้ที่ได้รับการสนับสนุนนวัตกรรมในครั้งนี้ รวมทั้งเป็นผู้ลงนามสัญญาในนามผู้ให้การสนับสนุน พร้อมด้วย คุณรุ่งนภา จุลศักดิ์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายงานบริหารโครงการหน่วยขับเคลื่อนนวัตกรรมเพื่อสังคมฯ เป็นผู้ลงนามสัญญาในนามพยานของฝ่ายผู้ให้การสนับสนุน และหัวหน้าผลงานทั้ง 14 ผลงาน จะเป็นผู้ลงนามสัญญาในนามผู้รับการสนับสนุน ร่วมกับที่ปรึกษาผลงาน เป็นผู้ลงนามสัญญาในนามพยานของฝ่ายผู้รับการสนับสนุน ทั้งนี้มีผู้บริหารจากหน่วยงานภาครัฐ อาทิ นายมานิตย์ แก้วกันธะ ผู้อำนวยการโรงเรียนอนุบาลแม่ฟ้าหลวง ได้ร่วมเป็นผู้ลงนามในสัญญาในฐานะหัวหน้าโครงการ  พร้อมทั้ง นายแพทย์อภิศักดิ์ วิทยานุกูลลักษณ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลธัญญารักษ์แม่ฮ่องสอน ได้เข้าร่วมเป็นสักขีพยานในการลงนามสัญญาในครั้งนี้

 

ในการนี้ ผศ.ดร.สุรชัย ณรัฐ จันทร์ศรี รองคณบดีวิทยาลัยพัฒนาเศรษฐกิจและเทคโนโลยีชุมชนแห่งเอเชีย พร้อมด้วย คุณโชคชัย คงอุดมทรัพย์ นักวิชาการศึกษา ได้เป็นผู้นำกิจกรรมศึกษาดูงาน พาเยี่ยมชม นวัตกรรมและผลงานวิจัยของอาจารย์ และนักศึกษาวิทยาลัยพัฒนาเศรษฐกิจและเทคโนโลยีชุมชนแห่งเอเชีย ในรูปแบบ Green City Concept: ชุมชนต้นแบบสีเขียวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และใช้พลังงานทดแทนสู่การพึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืน เพื่อให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมที่เป็นผู้ประกอบการ วิสาหกิจชุมชน บริษัท หน่วยงานภาครัฐและเอกชน รวมถึงประชาชนทั่วไป ได้เปิดมุมมองให้เกิดการพัฒนาต่อยอดนวัตกรรมหรือผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

 

นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมการสร้างระบบนิเวศนวัตกรรมที่ให้ผู้ประกอบการได้ทำความรู้จักซึ่งกันและกัน อันจะนำไปสู่ความร่วมมือในด้านต่าง ๆ ในอนาคต และนับว่าเป็นโอกาสสำคัญของที่ปรึกษาผลงานกับหัวหน้าผลงานและผู้ร่วมผลงานที่เป็นผู้นำนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ ได้มาพบปะ พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกัน โดยร่วมกันวางแผนการดำเนินงานโครงการ การแบ่งบทบาทหน้าที่ รวมทั้งระบุช่วงเวลาในการดำเนินงานร่วมกันตลอดโครงการ พร้อมทั้งยังได้มีการนำเสนอแผนการดำเนินโครงการของทั้ง 14 ผลงานอีกด้วย

ภาพข่าวเพิ่มเติม: https://photos.app.goo.gl/H3WyyTykzLigHKLK8

ภาพ/ข่าว: วิทยาลัยพัฒนาเศรษฐกิจและเทคโนโลยีชุมชนแห่งเอเชีย มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่

 

test